วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ข้อคิดจาก สามก๊ก



● กวนอู...

ตาย เพราะหยิ่งในความเป็นทหาร เพิกเฉยต่อการเจรจากับซุนกวนจนสุดท้ายหัวขาดในสถานะผู้แพ้สงคราม


เตียวหุย...

ตาย เพราะลุแก่โมหะ ถือตนว่าเป็นแม่ทัพใหญ่สั่งโบยตีทหารเลว จนสุดท้ายทหารเลวแอบมาปาดคอตอนแม่ทัพใหญ่กำลังเมามาย


เล่าปี่...

ตาย เพราะลุแก่โทสะ อยากแก้แค้นให้กวนอู ถือตนว่าเป็นอ๋องเป็นกษัตริย์จนลืมไตร่ตรองวิธีตั้งค่าย สุดท้ายพลาดท่าถูกลกซุนแม่ทัพหน้าใหม่ของซุนกวนพาทหารมาเผาค่ายจนวอดวาย เล่าปี่บาดเจ็บและตรอมใจตาย


โจโฉ และ ซุนกวน...

ผู้ที่ได้ชื่อว่าจอมทัพและครองพื้นที่ 1 ใน 3 ของแผ่นดินมังกร ตายด้วยอาการประสาทเสื่อม มองเห็นภาพหลอนของคนที่ตัวเองเคยเข่นฆ่า


จิวยี่...

ผู้มีปัญญาล้ำเลิศที่สุดในง่อก๊ก ต้องกระอักเลือดตายเพราะไม่สามารถระงับโทสะที่เกิดขึ้นจากการพ่ายแพ้อย่างราบคาบแก่ผู้มีปัญหาเลิศล้ำกว่าตนที่มีนามว่าขงเบ้ง


จูกัดเหลียง หรือ ขงเบ้ง...

ผู้มีปัญญาเลิศล้ำที่สุดในแผ่นดินมังกร ตายไปพร้อมกับอาการห่วงหน้าพะวงหลัง พะว้าพะวังในราชกิจที่ยังคงคั่งค้าง


ที่กล่าวมาทุกคนล้วนแต่เป็น "วีรบุรุษ" ล้วนแต่เป็น "นักปราชญ์" ล้วนแต่เป็น "เจ้าเหนือหัว"


แต่การมีแค่เพียงพละกำลัง ความรู้ และอำนาจ ไม่ได้ช่วยให้ใครตายสบายสักผู้สักคน ตราบใดที่คนเหล่านั้นยังคงยึดถือ "ตัวตน" หรือ "อัตตา" ในตัวเองอยู่


จะกล่าวถึง ‘เตียวจูล่งหยุน’ (จูล่ง)

แม่ทัพคนสำคัญของเล่าปี่ผู้นี้ฆ่าคนมามาก ไต่เต้าจากตำแหน่งทหารกระจอกจนได้เป็นแม่ทัพใหญ่แห่งจ๊กก๊ก แต่ทุกภารกิจ ทุกศพที่เขาเข่นฆ่า และทุกสงคราม จูล่งไม่เคยเอาอารมณ์เข้าไปผสม จูล่ง "ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่" เท่านั้น


แม้ก่อนตายจูล่งจะเสียสถิติ "ขุนศึกผู้ไร้พ่าย" เพราะต้องมีอันพ่ายแพ้ในศึกเทียนสุย จนแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่จูล่งก็สามารถละอัตตา สั่งถอยทัพเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม และยังปลงใจให้ยอมรับในความจริงที่เกิดขึ้นได้


วาระสุดท้ายของจูล่ง จึงจากไปอย่างสงบ สงบจนพระเจ้าเล่าเสี้ยนถึงกับหลั่งน้ำตาชโลมแผ่นดินมังกรให้แก่ขุนศึกผู้เปรียบเสมือนบิดาของตนเอง


ความเครียดจากชีวิตยุคดิจิทัล คงไม่ได้เกิดมาจากความลำบากในการทำงานอย่างเดียว ไม่ได้เกิดมาจากความผิดพลาดหรือผิดหวังอย่างเดียว


แต่เกิดจากการที่เรา เอาตัวเรา เข้าไปผสมกับงาน ผสมกับผลการสอบ กับผลการประเมิน กับเงินเดือน หรือกับสิ่งต่างๆ รอบกาย


พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เรา ละตัวตน + ลดอัตตา...ทำหน้าที่ = เพื่อหน้าที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น